เมนูหม้อไฟ.. อิ่มใจ อุ่นกาย

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    8,831    0    23 ก.พ. 2560 15:46 น.   
แบ่งปัน
เมนูหม้อไฟ.. อิ่มใจ อุ่นกาย

“หม้อไฟ” เพียงแค่ได้ยินชื่อก็ทำให้รู้สึกอบอุ่น เพราะเป็นอาหารที่ปรุงจากหม้อ และจุดไฟให้ความร้อนตลอดเวลาขณะรับประทาน อีกทั้งเป็นอาหารที่มักจะรับประทานร่วมกันหลายคน ได้ช่วยกันต้ม ลวก ตักน้ำซุป คอยส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กัน ทำให้ได้กระชับความสัมพันธ์อันดีให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หม้อไฟจึงเป็นอาหารที่รับประทานแล้วอบอุ่นทั้งกาย อบอุ่นทั้งใจ

ชาวตะวันออกรู้จักกับอาหารประเภทหม้อไฟมานานกว่า 1,000 ปี จากชาวมองโกเลียที่ทำศึกสงครามกับชาวจีน นักรบมองโกเลียจะนั่งล้อมวงกัน เพื่อผิงไฟ แล้วใช้หมวกและโล่เป็นภาชนะในการทำอาหาร โดยใช้ต้มเนื้อแกะที่หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ และผักที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ เมนูนี้จึงเป็นที่รู้จักของชาวจีนด้วย เริ่มจากประเทศจีนแถบเหนือที่ติดกับประเทศมองโกเลีย แล้วค่อย ๆ แพร่ออกไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย

หม้อไฟจีน เรียกว่า ฮั่วกัว ชาวจีนในภาคเหนือ และภาคตะวันตกนิยมรับประทานหม้อไฟมาก แต่หม้อไฟในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะ และใช้วัตถุดิบแตกต่างกัน

หม้อไฟปักกิ่ง ใช้หม้อทองแดงทรงกลม ตรงกลางมีปล่องไฟสูงขึ้นมา ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟ ส่วนเนื้อสัตว์นั้นมักใช้เนื้อแพะ เนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ ต้มกับผัก เห็ด และเต้าหู้ให้สุกในคราวเดียว รับประทานกับน้ำจิ้มหมาเจี้ยง คือ น้ำจิ้มงาผสมกับเต้าหู้ยี้ให้ข้นเหนียว โรยด้วยต้นหอมผักชี

หม้อไฟเสฉวน ใช้หม้อทรงกลม หรือทรงเหลี่ยม แบ่งเป็นหลายช่อง หม้อยวนยาง แบ่งเป็น 2 ช่อง สำหรับน้ำซุปรสจืด และรสเผ็ด หม้อเบ็น แบ่งเป็น 3 ช่อง สำหรับน้ำซุปรสจืด รสเผ็ด และรสเปรี้ยวหวาน นอกจากนี้ยังมีหม้อไฟ 9 ช่อง สำหรับใส่น้ำซุปที่เพิ่มความเผ็ดขึ้นเรื่อย ๆ และจะเน้นปลากับเห็ดเป็นพิเศษ

สุกียากี้ เป็นหม้อไฟที่แพร่หลายไปทั่วโลก แต่โดยพื้นฐานแล้วก็จะมีเนื้อสัตว์ ผัก เต้าหู้ ไข่ไก่ วุ้นเส้น นำไปลวกหรือต้มในน้ำซุป รับประทานกับน้ำจิ้มต่างๆ  

หม้อไฟญี่ปุ่น เรียกรวม ๆ ว่า นาเบะโมโนะ ส่วนใหญ่จะใช้หม้อกระเบื้องที่มีฝาปิด จัดเรียงเนื้อสัตว์ ผัก เต้าหู้ และส่วนผสมอื่น ๆ ที่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำลงในนั้น เติมน้ำซุป ปิดฝา ตั้งไฟให้เดือดประมาณ 15 นาที หรือตามความหนาของเนื้อสัตว์ แต่หม้อไฟญี่ปุ่นก็ยังมีรูปแบบที่แยกย่อยลงไปอีก ดังนี้

สุกียากี้ จะใช้หม้อก้นแบน และปรุงน้ำซุปด้วยเครื่องปรุงญี่ปุ่นอย่างโชยุ มิริน สาเก และน้ำตาล น้ำซุปจึงเป็นสีน้ำตาล รสชาติออกหวานเข้มข้น ใช้เนื้อวัวสไลซ์ ผัก เต้าหู้เป็นหลัก

ชาบูชาบู มีส่วนผสมคล้ายกับสุกี้ยากี้ เพียงแต่จะสไลซ์เนื้อวัวให้บางกว่าที่ใช้ทำสุกี้เล็กน้อย และน้ำซุปจะไม่เข้มข้นเท่า เพราะเป็นซุปใสที่ทำจากปลาแห้ง และสาหร่ายคอมบุ รับประทานโดยแกว่งเนื้อสไลซ์ลงในน้ำซุปสัก 2 – 3 รอบ พอให้เนื้อเปลี่ยนเป็นสีชมพูระเรื่อ จิ้มกับน้ำจิ้มโกมะ คือ น้ำจิ้มงาขาว หรือน้ำจิ้มพอนซึที่ออกเปรี้ยว ๆ

หม้อไฟเกาหลี มักเสิร์ฟโดยจัดเรียงส่วนผสมทั้งหมดไว้ในหม้อ แล้วนำมาตั้งไฟบนโต๊ะ รอให้เดือด แล้วรับประทานคราวเดียว

หม้อไฟเจินจู มาจากเมืองเจินจูที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีลักษณะเป็น คือ แกงหมูหมัก ใส่วุ้นเส้นเกาหลี พร้อมด้วยผัก และเห็ดนานาชนิด เช่น ถั่วงอกหัวโต เห็ดเข็มทอง จัดเรียงใส่หม้อ เติมน้ำซุปที่ปรุงรสแล้วลงไป ตั้งไฟอ่อน ๆ รอให้เดือด หมูหมักที่ใส่ในหม้อจะเป็นหมูชิ้นใหญ่ ๆ เมื่อต้มจนสุก จึงใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นพอดีคำก่อนตักแบ่งรับประทาน และมักจะรับประทานกิมจิ ไข่ม้วน และกุ้งฝอยเป็นเครื่องเคียงด้วย

หม้อไฟไทย ประเทศไทยมีเมนูตุ๋นต้มมากมายที่นิยมเสิร์ฟแบบหม้อไฟ จุดไฟไว้ข้างใต้ในขณะเสิร์ฟ ส่วนใหญ่จะเป็นเมนูที่ปรุงรสจัด เช่น เนื้อตุ๋น ต้มแซบขาไก่ ต้มยำกุ้ง โป๊ะแตกทะเล มักเสิร์ฟในหม้อทรงกลม ตรงกลางมีปล่องไฟสูงขึ้นมา หรือเมนูปลาอย่างแกงส้มแป๊ะซะปลาช่อนทอด ปลากะพงนึ่งมะนาวก็มักจะเสิร์ฟในภาชนะทรงปลา แล้วจุดไฟไว้ข้างใต้ นอกจากนี้ประเทศไทยก็ยังมีเมนูหม้อไฟที่คล้ายคลึงกับสุกียากี้ของจีน และชาบูชาบูของญี่ปุ่นด้วย คือ จิ้มจุ่ม

จิ้มจุ่ม ใช้หม้อดินเผาวางบนเตาถ่าน น้ำซุปจะปรุงด้วยสมุนไพรไทย และใส่ผักอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ เนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่จะใช้เนื้อวัว หรือเนื้อหมู พร้อมด้วยเครื่องใน หั่นเตรียมไว้สำหรับจุ่มลงในหม้อน้ำซุปพอสุก รับประทานกับน้ำจิ้มแจ่วแบบอีสาน
สาระน่ารู้อื่นๆ