เช็กก่อนเวฟ ภาชนะแบบไหนเอาเข้าไมโครเวฟได้?

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    6,376    0    29 ก.ค. 2565 15:04 น.   
แบ่งปัน
ไมโครเวฟ เป็นเครื่องครัวที่มีอยู่ทุกบ้านเลยก็ว่าได้ ถึงจะใช้อยู่เป็นประจำ แต่บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าภาชนะแบบไหนที่เอาเข้าเวฟได้บ้าง หากใช้วัสดุผิดประเภทก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ มาเช็กกันว่ามีภาชนะใดบ้างที่เข้าไมโครเวฟได้และไม่ได้
 

✅ ภาชนะที่เข้าไมโครเวฟได้
แก้ว
แก้วเป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้ดี และคลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุผ่านภาชนะที่ทำจากแก้วได้ แต่ก็ไม่ใช่ภาชนะแก้วทุกใบจะสามารถทนความร้อนของไมโครเวฟได้ ดังนั้นก่อนนำไปใช้ควรอ่านฉลากให้ดีก่อนว่าภาชนะนี้สามารถใช้กับไมโครเวฟได้ไหม
 
เซรามิก
ภาชนะเซรามิกสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย แต่ข้อควรระวังคือต้องใช้ภาชนะที่ไม่มีลวดลาย เคลือบสี เพราะสีอาจจะปนเปื้อนในอาหารได้ รวมถึงภาชนะที่มีขอบเงินขอบทอง เพราะเป็นสีที่สะท้อนคลื่นไมโครเวฟ ทำให้เครื่องเสื่อมสภาพได้
 
พลาสติก
พลาสติกที่นำเข้าไมโครเวฟได้ต้องเป็นประเภท Polyethylene terephthalate (PET) หรือ Polypropylene (PP) เป็นพลาสติกที่ทนความร้อนได้สูงและคุณภาพดี ก่อนนำภาชนะพลาสติกไปใช้ เช็กก่อนว่ามีสัญลักษณ์ Microwave-safe หรือ Microwavable หรือไม่ ถ้ามีก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
 
❌ ภาชนะที่นำเข้าไมโครเวฟไม่ได้
โลหะ
เมื่อคลื่นไมโครเวฟกระทบกับภาชนะที่เป็นโลหะจะสะท้อนกลับ ไม่สามารถทะลุผ่านภาชนะได้ ทำให้อาหารไม่สุก อีกทั้งยังส่งผลให้ไมโครเวฟเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดประกายไฟ เสี่ยงไฟไหม้ได้
 
ฟอยล์ห่ออาหาร
ฟอยล์ห่ออาหารทำมาจากโลหะอะลูมิเนียม ดังนั้นเมื่อนำเข้าไมโครเวฟก็จะทำให้คลื่นสะท้อนกลับ อีกทั้งเวลานำกระดาษฟอยล์ไปห่ออาหารก็จะไม่เป็นทรง มีมุมแหลม จะทำให้เกิดประกายไฟได้ง่ายและเสี่ยงไฟไหม้ได้ 
 
เมลามีน
เมลามีนเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความทนทานและทนความร้อนได้ดี แต่ไม่สามารถทนความร้อนของรังสีในไมโครเวฟได้ และถ้านำภาชนะเมลามีนมาอุ่นอาหารก็อาจทำให้สารฟอร์มาดีไฮด์จากภาชนะปนเปื้อนมาในอาหารได้
 
กระดาษ
ภาชนะจากกระดาษสามารถใช้อุ่นไฟเบาหรือใช้เวลาไม่นานได้ แต่ถ้าใช้ไฟแรงก็อาจทำให้เกิดประกายไฟได้ นอกจากนี้ภาชนะกระดาษที่มีการพิมพ์ลาย เมื่อโดนความร้อนก็อาจทำให้หมึกพิมพ์ปนเปื้อนไปในอาหารได้
 
โฟม
กล่องโฟมที่ใส่ข้าวแบบที่เราเห็นกันทั่วไปนั้นทนต่อความร้อนได้ไม่สูง ถ้านำเข้าไมโครเวฟก็อาจทำให้โฟมละลาย และเสี่ยงที่จะเกิดไฟลุกไหม้ได้ นอกจากนี้สารที่ละลายออกมาอาจปนเปื้อนในอาหารได้
 
สาระน่ารู้อื่นๆ