ป้อน...ไม่ป้อนดี

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    5,091    0    26 ส.ค. 2559 : น.   
แบ่งปัน

วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องที่คุณแม่หรือบรรดาพี่เลี้ยงหลายๆ ครอบครัวเป็นกังวลถึงการไม่ยอมกินอาหารของเด็กๆ ที่เราดูแลจนถึงขนาดต้องป้อนกันเลย ทั้งๆ ที่หลายคนโตแล้วไปโรงเรียนกันแล้วยังป้อนข้าวกันอยู่เลย ไม่เช่นนั้นเจ้าตัวเล็กของเราก็จะไม่ยอมกินอาหารที่เราเตรียมไว้

หยุด...อย่ากังวลจนเกินไปค่ะ ขอบอกว่าปัญหานี้แก้ได้ไม่อยากเลยเพียงแต่ต้องใจเย็นๆ ปรับความคิดและยอมให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง ควรฝึกให้ลูกกินเองตามวัย และตามพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กของเขา ซึ่งจากข้อคิดของ พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีเทคนิคดีๆ มาแนะนำสรุปได้ดังนี้คะ

- ต้องไม่บังคับหรือกดดันลูกนะคะ เพราะเด็กวัย 1 ขวบขึ้นไปจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองแล้ว และไม่ชอบการบังคับ
 
- ไม่ควรบังคับให้ลูกกินอาหารที่ไม่ชอบ เช่น ผักนานาชนิด เพราะถ้ายิ่งบังคับลูกก็จะต่อต้านทำให้เกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลย วีธีแก้คือ ควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้ลูกโดยเริ่มจากนำอาหารที่ลูกไม่ชอบมาทำเมนูใหม่ๆ เช่นไข่ตุ๋นใส่ผักหรือเลือกใช้ผักหลากสีอย่าง แคร์รอต มะเขือเทศ ถั่วลันเตา มาทำอาหารก็เพิ่มความอร่อยไปอีกแบบหรือจัดตกแต่งจานให้น่าสนใจเช่น ใช้พิมพ์กดข้าวเป็นรูปการ์ตูน
 
- จัดโต๊ะอาหารและกินข้าวไปพร้อมๆ กันลูกจะได้เรียนรู้วิธีการกินอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย แต่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น อย่าเลือกกินต่อหน้าลูก
 
- ไม่ดูทีวีหรือทำกิจกรรมอื่น เพราะอาจจะเบี่ยงเบนความสนใจในการกินของลูกเวลาในกินอาหารแต่ละมื้อไม่ควรให้ลูกกินข้าวเกินเวลา 20 -30 นาที
 
- ไม่ควรใช้อาหารเป็นรางวัลหรือการลงโทษลูก ถ้าเอาเรื่องกินอาหารมาใช้เป็นการให้รางวัลหรือลงโทษ ลูกอาจจะเครียด หรืออาจจะใช้เรื่องกินมาเป็นเครื่องมือต่อต้านคุณพ่อคุณแม่ได้
 
- จัดปริมาณอาหารให้เหมาะสม อย่ายัดเยียดป้อนลูก “อีกคำนะ” เพราะถ้าลูกอิ่มแล้ว แต่คุณแม่และพี่เลี้ยงยังให้กินอยู่เรื่อยๆ บางครั้งลูกอาจอาเจียนหรือขย้อนอาหารออกมา คนป้อนก็จะรู้สึกกังวลหรือหงุดหงิด ทำให้มื้ออาหารของลูกเป็นเรื่องน่าเบื่อ ควรปล่อยให้ลูกเป็นผู้เลือกว่า เขาจะกินแค่ไหนถึงจะพอ แม้ว่าลูกอาจจะดูไม่อ้วนท้วนเหมือนลูกคนอื่นเขา และดูเหมือนว่าการกินแต่ละคำช่างยากเย็นเหลือเกิน ก็อย่าได้พยายามไปบังคับลูกให้กินให้ได้ เพราะร่างกายของเด็กแต่ละคนจะมีการควบคุมตามธรรมชาติ ที่จะคอยบอกให้เด็กรู้สึกหิวหรืออิ่ม
 
- ลูกอาจจะเลอะเทอะเวลากินอาหาร ให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่าไปดุหรือว่ากล่าว หรือทำท่าทางหงุดหงิด ซึ่งอาจมีผลทำให้เด็กกลัวไม่อยากกินอาหารอีกเพราะกลัวทำเลอะเทอะ
 
- ลดของว่างระหว่างมื้อ ไม่ควรให้ลูกกินจุบจิบทั้งวันเพราะจะทำให้ลูกไม่หิวเมื่อถึงมื้ออาหารหลัก
 
สิ่งที่สำคัญคือ อย่าได้วิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะการฝึกลูกให้กินอาหารได้ดีนั้นต้องใช้ความอดทน และความเข้าใจในพฤติกรรมเด็กแต่ละช่วงอายุ โดยใช้เวลาเป็นเดือนๆ ไม่ใช่ทำตามใจเราภายในวันสองวัน ลูกจะไม่กลายเป็นเด็กขาดสารอาหารแน่นอน ถึงแม้เขาจะกินข้าวมื้อนี้ไม่หมดจานอย่างที่คุณต้องการ พยายามให้อาหารที่ได้สมดุล การเลือกอาหารให้แก่เด็กนั้นควรที่จะพยายามจัดให้ได้ประมาณ 3 หมู่ ใน 5 หมู่ในแต่ละมื้อ แต่ไม่ใช่ว่าต้องครบ 5 หมู่ให้ได้ในแต่ละครั้ง และคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปบ้างในแต่ละวันหรือหลายวัน แม้ว่าลูกจะทำท่าไม่ยอมกินอาหารประเภทใดเป็นพิเศษก็ควรจะหาอาหารประเภทอื่นๆ ที่สามารถทดแทนกันได้มาให้ เช่น ไม่ยอมกินผักใบเขียว ก็อาจให้กินผลไม้แทน หรือให้เป็นแคร์รอต ฟักทอง หรือข้าวโพดแทน หรือไม่ชอบหมูก็อาจใช้ไข่ เนื้อไก่หรือหรือปลาแทนได้
 
นอกจากคุณแม่และพี่เลี้ยงจึงควรลองสำรวจดูเมนูอาหารของลูกว่ามีสารอาหารที่เป็นสมดุลกันแค่ไหน ไม่ใช่ว่าลูกชอบกินข้าวไข่เจียวก็เลยทำแต่ข้าวไข่เจียวให้กิน การพยายามให้มีอาหารต่างชนิดกันมาให้เด็กลอง แม้ว่าในตอนแรกเด็กอาจจะยังไม่คุ้นและไม่ยอมกิน แต่ก็จะเป็นการฝึกเด็กให้คุ้นเคยไปทีละน้อยและต่อมาก็จะกินได้เอง
 
 
สาระน่ารู้อื่นๆ