สาหร่าย... เลือกกินให้ได้ประโยชน์

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    8,592    0    28 ก.ค. 2559 : น.   
แบ่งปัน

โดยเมนูส่วนใหญ่ที่ต้องมีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซูชิ ซุปมิโซะ ข้าวปั้น การโรยบนข้าวหน้าต่าง ๆ หรือแม้แต่กระทั่งผสมลงในชา ไอศกรีม และน้ำผลไม้บางชนิด แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสาหร่ายถูกนำมาทำเป็นขนมขบเคี้ยวมากขึ้น ด้วยการนำสาหร่ายแผ่นมาปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง น้ำตาล พริกไทย หรือเครื่องปรุงรสต่าง ๆ 
    
สาหร่ายที่นิยมนำมารับประทานส่วนมากจะเป็นสาหร่ายทะเล แต่ที่จริงแล้วแหล่งที่มาของสาหร่าย มีทั้งสาหร่ายน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยการใช้ประโยชน์ของสาหร่าย สามารถใช้เป็นได้ทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ ใช้ในการกำจัดน้ำเสีย ผลิตเครื่องสำอาง ผลิตยา และอื่น ๆ อีกมากมาย สาหร่ายที่นิยมใช้เป็นอาหารของคน ได้แก่ สาหร่ายโนริ หรือสาหร่ายสายใบ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสาหร่ายสีแดง หรือที่ชาวญี่ปุ่นมักนำมาทำเป็นแผ่นบางเพื่อใช้ห่อซูชินั่นเอง  ซึ่งการรับประทานสาหร่ายโนริเพียงแผ่นเดียว มีโอเมก้า 3 มากกว่าอะโวคาโดถึง 2 เท่า และยังช่วยสร้างน้ำมันตามธรรมชาติบนผิว เพื่อช่วยลดสิวและช่วยให้ผิวที่แห้งกร้านชุ่มชื้นขึ้นในตัว เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวที่แห้งกร้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สาหร่ายโนริยังช่วยลดการผลิตสารอักเสบที่ทำให้ผิวหมองคล้ำอีกด้วย

สาหร่ายลามินาเรีย (Laminaria) หรือคอมบุ ถูกจัดให้อยู่ในสาหร่ายกลุ่มสีน้ำตาล เป็นสาหร่ายทะเลที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะแบนบางและยาว ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ทำเป็นน้ำสต๊อกสำหรับทำซุป นอกจากนี้สาหร่ายอีกชนิดหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้รับประทานกับน้ำซุป คือ สาหร่ายอุนดาเรีย (Undaria) หรือวากาเมะ ซึ่งถือว่าเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักดีที่สุดในโลก ชาวญี่ปุ่นจึงมักรับประทานสาหร่ายวากาเมะร่วมกับอาหารอย่างอื่นในทุกมื้อ สำหรับสาหร่ายกลุ่มสีเขียวที่รับประทานได้ส่วนใหญ่มีอยู่ในน้ำจืดมากกว่า โดยเฉพาะสาหร่ายที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ไข่หิน หรือดอกหิน พบได้ในจังหวัดเชียงใหม่และจันทบุรี สามารถนำมาต้มกับน้ำตาลรับประทานร้อน ๆ หรือทำต้มยำ ส่วนสาหร่ายเทาหรือไก พบได้ตามแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป แต่ก่อนที่จะนำมาประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดหรือแช่ค้างคืนไว้ก่อน สามารถนำมาทำได้ทั้งเมนูลาบ ยำ ส้มตำ แกงส้ม หรือนำไปตำเป็นเมนูน้ำพริกรับประทานพร้อมข้าวเหนียวได้เช่นกัน

จากที่กล่าวมายังมีสาหร่ายอีกหลายชนิด ที่คนสามารถรับประทานได้และไม่ได้  ซึ่งยังอยู่ในช่วงการวิจัยและทดลอง โดยสาหร่ายที่สามารถรับประทานได้ส่วนใหญ่ถือเป็นอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลน้อยมาก จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก ในส่วนประโยชน์ของสาหร่ายทะเลจัดเป็นพืชที่มีไอโอดีนค่อนข้างสูงแต่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งในแต่ละชนิดอาจมีปริมาณไอโอดีนไม่เท่ากันตามแต่แหล่งที่มา ส่วนแร่ธาตุอื่น ๆ ได้แก่ ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม โพแทสเซียม สังกะสี และวิตามิน  เบต้าแคโรทีน รวมทั้งกากใยอาหาร สำหรับสารอาหารที่มีอยู่ในสาหร่ายน้ำจืด ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต  เกลือแร่ วิตามิน B โดยเฉพาะ B 2 รวมทั้งกรดโฟลิก และกรดแพนโทธีนิก ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินที่สำคัญ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

ถึงแม้ว่าการรับประทานสาหร่ายจะมีประโยชน์เหมือนพืชผักทั่ว ๆ ไป แต่ก็ต้องควรระวังเช่นกัน เพราะสาหร่ายบางชนิดยังไม่ได้รับการยืนยันถึงประโยชน์และความปลอดภัย ดังนั้นการรับประทานในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นยังอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จนเกิดอาการกระวนกระวาย ใจสั่น และหิวน้ำตลอดเวลา ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้มักเกิดกับผู้ที่นิยมรับประทานสาหร่ายอัดเม็ดต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อหยุดรับประทานอาการก็จะหายไป หรือการรับประทานสาหร่ายที่ถูกปรุงรสจนกลายเป็นขนมขบเคี้ยวก็ควรเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากสาหร่ายเหล่านี้อาจมีโซเดียมสูง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง ซึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงนอกจากคุณค่าทางอาหารของสาหร่ายแล้ว การรับประทานอาหารที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมีและเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายของเราได้รับประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
สาระน่ารู้อื่นๆ