ต้อกระจก โรคตาในผู้สูงอายุ

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    5,662    0    26 ม.ค. 2560 14:38 น.   
แบ่งปัน
ต้อกระจก โรคตาในผู้สูงอายุ

โรคต้อกระจกเป็นโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 55-60 ปีขึ้นไป ซึ่งลูกหลานส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นอาการปกติของผู้ใหญ่ที่มักจะมีอาการสายตาฝ้าฟางเป็นธรรมดา จึงมองข้ามหรือไม่ใส่ใจเท่าที่ควร แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ เป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกที่อาจส่งผลต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุได้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้สูญเสียดวงตาได้ ฉะนั้นเรามาสังเกตผู้ใหญ่ในครอบครัวของเราดีกว่าว่ามีอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่
 
สาเหตุ
โรคต้อกระจก เกิดจากภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (lens) ในลูกตาขุ่นขาวขึ้น จากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวและทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัว ทำให้การมองเห็นแย่ลง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนบริเวณดวงตาอย่างรุนแรง, มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น เด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่มีอาการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างการตั้งครรภ์ คนที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น แล้วยังเกิดจากโรคอื่นๆ ภายในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ รวมทั้งการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ทั้งยาหยอด ยาพ่น ยารับประทานหรือยาฉีดที่นิยมนำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไต และโรคตามข้อต่างๆ เป็นต้น
 
อาการ
การมองเห็นจะค่อยๆ มัวลง เริ่มแรกจะรู้สึกเหมือนมีหมอกบางๆ หรือกระจกฝ้ามาบังการมองเห็น โดยไม่มีอาการเจ็บปวด หรือตาแดง บางคนอาจมีสายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นบ่อยๆ จนกระทั่งแว่นตาไม่สามารถช่วยได้ หรือเห็นสีต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะสีเหลือง เห็นวงรอบแสงไฟ อาการจะเริ่มเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ดวงตาก็จะมองไม่เห็น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการมองเห็น เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงแดดมากๆ ตาจะพร่ามัว แต่กลับเห็นชัดในตอนกลางคืน และมองเห็นเป็นภาพซ้อน รูม่านตามีสีเปลี่ยนไป เป็นต้น
 
การรักษา
เมื่อเลนส์ตายังขุ่นไม่มากอาจใช้ยาหยอดตาหยอดทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อทำให้เลนส์ตาขุ่นช้าลง หรือใช้แว่นสายตา เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นซึ่งเหมาะกับคนที่เป็นต้อกระจกร่วมกับสายตาสั้น แต่การรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูง และฝังเลนส์เทียมเข้าไปแทนเลนส์จริงในลูกตา ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้เหมือนปกติ
สาระน่ารู้อื่นๆ