ประวัติขนมไทย

หน้าแรก      สาระน่ารู้
ถูกใจ
0    17,923    6    30 พ.ย. 2560 14:39 น.   
แบ่งปัน

ขนมไทย เป็นของหวานของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณกาล ใช้แป้ง น้ำตาล และกะทิเป็นส่วนผสมหลัก รสชาติหวาน มัน นุ่ม เหนียว รูปลักษณ์สีสันสวยงาม กลิ่นหอมหวานจากวัตถุดิบที่ใช้ทำชวนน่ารับประทาน แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่าขนมไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง
 
ขนมไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดระหว่างขนมไทยกับคนไทยคือวรรณคดีมรดกสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” (พ.ศ. 2431) ที่กล่าวถึง ขนมต้มไว้ว่า “กาลวันหนึ่งพระองค์จึงให้หาเข้าหนมต้มได้ 16,000 ลูก พระองค์จึงถอดแหวนพระธำมรงค์วงหนึ่งออกจากพระกรแห่งพระองค์ พระองค์จึงใส่เข้าในเข้าหนมนั้น” เป็นสิ่งบอกเล่าได้ดีว่าขนมไทยมีมาแต่โบราณ

ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฏข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึง “ย่านป่าขนม” หรือตลาดขนม คือบริเวณหน้าวัดมหาธาตุ ซึ่งชาวบ้านในย่านนี้จะทำขนมขายหน้าร้าน มีขนมโบราณชื่อแปลก ๆ ให้ได้เห็นกัน อาทิ ขนมชะมด ขนมเกวียน สามเกลอ หรือหินฝนทอง บางฉบับกล่าวถึง “บ้านหม้อ” ที่มีการปั้นหม้อ กระทะขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก

ขนมไทย มีบทบาทมากที่สุดในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวโปรตุเกส อย่างท่านผู้หญิงวิชาเยนทร์หรือบรรดาศักดิ์ว่า “ท้าวทองกีบม้า” ผู้เป็นต้นเครื่องขนมหรือของหวานในวัง ได้สอนให้สาวชาววังทำของหวานต่าง ๆ โดยเฉพาะได้นำไข่ขาวและไข่แดงมาเป็นส่วนผสมสำคัญอย่างที่ทางโปรตุเกสทำกัน ได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง และรวมไปถึง ขนมทองโปร่ง ขนมทองพลุ ขนมสำปันนี ขนมไข่เต่า ฯลฯ

ตำราอาหารถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “แม่ครัวหัวป่าก์” เป็นตำราอาหารไทยเล่มแรก ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในตำราอาหารไทยเล่มนี้ปรากรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระอันประกอบด้วย ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน วุ้นผลมะปราง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมทำขนมใช้ในงานบุญเป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
 
สาระน่ารู้อื่นๆ