Guss Damn Good เพราะไอศกรีมไม่ได้เป็นเพียงแค่ของหวาน

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
7,028    5    -4    22 ส.ค. 2562 17:00 น.
แบ่งปัน

               เสียงกระดิ่งดังกริ๊ง ๆ เรียกมาแต่ไกล ชะโงกหน้าออกมาดูเห็นรถเข็นขายไอศกรีมเจ้าประจำ เป็นไอศกรีมโบราณแบบตัดขาย สีขาวรสกะทิ สีน้ำตาลรสช็อกโกแลต สีชมพูรสสตรอว์เบอร์รี สีม่วงรสเผือก พอเลือกเรียบร้อยคุณลุงเจ้าของร้านจะเสียบไม้ลงตรงกลางไอศกรีมแล้วยื่นให้พร้อมกิน นี่คือไอศกรีมโบราณรสหวานฉ่ำในอดีตที่ฉันนึกถึงเสมอในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว

               เดี๋ยวนี้ต่างออกไปเรามีไอศกรีมให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ ทั้งที่เป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงไอศกรีมสัญชาติไทยที่มีให้เลือกเยอะไม่แพ้กัน ถ้าจะหาความแตกต่างคงบอกได้ว่าขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน บางคนชอบความข้นมันสไตล์อเมริกัน บางคนชอบแบบเบาลงมาหน่อยก็คงเลือกสไตล์อิตาเลียนที่เรียกว่าเจลาโต้ หรือถ้าชอบแบบสดชื่นคงต้องเลือกเชอร์เบทผลไม้สไตล์ไทย แต่ถ้าใครอยากได้แบบแหวกแนวกว่านั้นขอแนะนำให้รู้จักกับ Guss Damn Good ไอศกรีมที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของหวาน คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ ผู้ก่อตั้งไอศกรีมสัญชาติไทยแบรนด์ Guss Damn Good

 


ที่มาของซื้อร้าน Guss Damn Good เกิดที่บอสตัน

นที : Guss เป็นโปรเจกต์ที่ผมทำตอนเรียนเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ Babson College เมืองบอสตัน เพราะผมอยากรู้ว่าการเป็นผู้ประกอบการต้องมีอะไรบ้าง ผมคิดว่าอย่างแรกต้องมี Focus คือโฟกัสในสิ่งที่เราทำ อย่างที่สองคือ Gut Feeling เป็นสัญชาตญาณที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักการและเหตุผล ซึ่งตอนแรกร้านของเราชื่อ กัสไอศกรีม วันหนึ่งมีรุ่นพี่ที่เป็นหมอมาชิมไอศกรีมของเราแล้วอุทานออกมาว่า “Guss Damn Good” เรารู้สึกชอบ จึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อร้าน

ระริน : ต้องบอกก่อนเลยว่าเราสองคนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอาหารเลย เพราะรินเรียนการเงิน ส่วนทีเรียนวิศวะ แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ แต่เราสองคนแค่ชอบทานไอศกรีม มีอยู่วันหนึ่งเราสองคนไปทานไอศกรีมด้วยกัน ซึ่งร้านไอศกรีมที่นู่นจะเป็นร้านแบบบาร์ เปิดตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน ให้ความรู้สึกเหมือนคนมานั่งแฮงเอาท์กันในร้านไอศกรีม เป็นบรรยากาศที่ชอบมาก ๆ

 


จุดเริ่มต้นของร้าน Guss Damn Good ในวันที่หิมะตก

ระริน : เราสองคนได้เจอกันตอนไปเรียนที่ Babson College แล้วก็คิดว่าอยากจะทำธุรกิจอะไรด้วยกันสักอย่าง มีอยู่วันหนึ่งเป็นวันที่หิมะตก ซึ่งที่บอสตันเป็นเมืองที่หิมะตก 7-8 เดือนต่อปี แถมยังเป็นเมืองที่คนกินไอศกรีมเยอะที่สุดจนติดท็อปในสหรัฐอเมริกา อย่างวันที่อากาศหนาว ๆ คนก็ยังต่อแถวซื้อไอศกรีม ก็เลยเกิดความสงสัยว่าพวกเขาไม่หนาวกันหรือยังไง เพื่อนที่เป็นชาวอเมริกันเลยบอกว่าที่เขากินไอศกรีมในฤดูหนาวเพื่อให้นึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในฤดูร้อน ไอศกรีมที่นี่จึงไม่ได้เป็นแค่ของหวาน แต่เป็นเหมือนที่เก็บความทรงจำ เพราะแบบนี้จึงทำให้ไอศกรีมแต่ละรสชาติของเราเกิดจากเรื่องราวที่ต่างกันออกไป กว่าจะได้ไอศกรีมแต่ละรสชาติจะต้องมีเรื่องราวดี ๆ หรือเรื่องราวที่ประทับใจที่เรารู้สึกว่าเหมาะกับการทำไอศกรีม จึงทำให้ไอศกรีมที่ร้านเรามีแต่ชื่อแปลก ๆ

 


เวลาที่ใช้ในการลองผิดลองถูกก่อนเป็น Guss Damn Good

นที : ตอนแรกเราคิดอะไรไม่ออก เลยซื้อนมและครีมทุกยี่ห้อมาวางเรียงกัน จากนั้นนำมาผสมให้ใกล้เคียงกับรสชาติที่เราทานที่บอสตัน รสแรกที่ได้คือ Don't Give Up #18 ซึ่งเลข 18 เป็นจำนวนครั้งที่เราได้รสชาติที่ใกล้เคียงกับรสที่ต้องการ แต่จริง ๆ รสนี้เราทดลองประมาณ 33 ครั้ง แล้วก็ศึกษาจากหนังสือที่เป็นวิทยาศาสตร์ของไอศกรีม แล้วค่อย ๆ ปรับตามลิ้นของเรา

ระริน : ส่วนโลโก้ที่เราเขียนว่าบอสตันนั้นก็เพราะว่าเราสองคนเริ่มทำแบรนด์นี้ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2014 เราได้สั่งเครื่องทำไอศกรีมจากเว็บไซต์และซื้อของจากร้านขายของทั่วไปมาทำ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เราทำไอศกรีมให้เพื่อนทาน แต่ตอนที่กลับมาที่ประเทศไทยเราก็เริ่มทำกันแบบจริงจัง

 


ความแตกต่างของไอศกรีมที่ร้าน Guss Damn Good กับร้านทั่วไป

ระริน : เรามีคำมั่นสัญญาของร้านอยู่สามข้อ ข้อแรกคือ Inspire by people story คือไอศกรีมของเราเกิดจากการที่เราเห็นคนบอสตันทานไอศกรีมเพื่อนึกถึงช่วงฤดูร้อน เราเลยเชื่อว่าไอศกรีมเป็นสิ่งที่มีความรู้สึก ดังนั้นรสชาติของเราจึงต้องเกิดจากเรื่องราวของผู้คนที่มีความรู้สึกดี ๆ

นที : ข้อสองคือ Boston Culture  ตอนที่เราไปทานไอศกรีมที่บอสตัน คนตักไอศกรีมให้ความรู้กับเราดีมาก ๆ เหมือนเป็นเพื่อนเราคนนึง เขาจะให้เราชิมจนกว่าจะเจอรสชาติที่ต้องการ เราก็อยากให้น้องที่ร้านของเราแนะนำลูกค้าจนกว่าจะชอบจริง ๆ และไม่อยากให้เกรงใจเวลาชิมไอศกรีมของเรา

ระริน : ข้อสามคือ Damn Good Taste เราอยากให้คนรู้สึกถึงรสสัมผัสและรสชาติในแบบที่อร่อยมาก ๆ เราจึงใช้วัตถุดิบที่ดีและสดใหม่ เช่น ใช้ช็อกโกแลตจริง ๆ ใช้นมที่พาสเจอร์ไรซ์ในอุณหภูมิที่ไม่สูงมากเพื่อคงรสและกลิ่นของนม ใช้ครีมจากฝรั่งเศสเพราะมีความเนียนนุ่ม ใช้เมล็ดกาแฟที่เพิ่งบดมาใหม่ ใช้น้ำผึ้งดอกลำไย คาราเมลกับบราวนี่เราก็ทำเอง ซึ่งไอศกรีมของเราอาจไม่ได้มีกลิ่นหอมฟุ้ง เพราะกลิ่นที่ได้มาจากส่วนผสมจริง ๆ และเราก็อยากให้คนที่มาทานรู้สึกจากรสชาติไม่ใช่แค่กลิ่น

 


รสชาติไอศกรีม และวิธีการคิดของ Guss Damn Good

ระริน : เกิดจากการที่เราได้เจอกับสิ่งที่รู้สึกประทับใจ บางครั้งจะทำร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เราก็จะเข้าไปคุยว่าทางแบรนด์ต้องการคอนเซ็ปต์แบบไหน จากนั้นรินก็จะไปคิดว่าคอนเซ็ปต์แบบนี้จะต้องเป็นรสชาติยังไง จากนั้นก็จะส่งให้ทีเป็นคนจัดการเรื่องสัดส่วน จากนั้นเราก็จะมาทำเป็นไอศกรีม แล้วก็ชิมจนกว่าจะได้รสที่พอใจ บางครั้งเราก็จะไปให้เพื่อนหรือรุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุดิบนั้น ๆ ช่วย เช่น รสกาแฟ เราก็จะให้รุ่นพี่ที่รู้จักกาแฟเป็นอย่างดีช่วยชิมให้ด้วย พอทำเสร็จแล้วเราก็จะคิดชื่อ

นที : เวลาชิมแล้วนึกถึงอะไรก็จะใช้ชื่อนั้นเลย เช่น รส BONFIRE เป็นรสเบิร์นคาราเมลที่ขมมาก เราจึงต้องกำชับให้น้องทุกคนตักให้ลูกค้าชิมก่อน ถ้าไม่ชิมเราไม่อยากขายให้ เพราะอาจมีสิทธิ์โดนตำหนิได้ โดยรสนี้เกิดจากการที่ผมเป็นคนที่ชอบเล่นสโนว์บอร์ดมาก ตอนอยู่ที่อเมริกาก็จะมีทริปสโนว์บอร์ด กลางคืนทุกคนก็จะมานั่งล้อมวงแล้วจุดกองไฟปิ้งมาร์ชแมลโลว์เวลาทานเข้าไปก็จะได้กลิ่นควันและความไหม้ของมาร์ชแมลโลว์ ส่วนรสชาติก็จะขม ๆ หน่อย จึงเป็นที่มาของชื่อ BONFIRE ที่เรานำคาราเมลมาเผา ทำให้มีรสชาติขมและได้กลิ่นควันอ่อน ๆ

 


ลูกค้าของ Guss Damn Good ต่างจากแบรนด์อื่นไหม

ระริน : แบรนด์ของเราอาจไม่ได้มีรสชาติที่ประหลาด แต่เป็นการผสมผสานรสชาติใหม่ที่ใช้วัตถุดิบที่ทุกคนคุ้นเคย ลูกค้าที่ร้านก็จะมีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งความต่างของร้านเรากับร้านอื่นก็คือ ร้านของเราไม่ค่อยทำ Marketing สักเท่าไร ยอดที่ได้จากการติดตามใน Instagram และ Facebook ก็เป็นยอดผู้ติดตามจริง ๆ ที่เราไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเพิ่มผู้ติดตาม ดังนั้นลูกค้าของเราจะมาจากการบอกปากต่อปากมากกว่า

Guss Damn Good เป็นไอศกรีมสไตล์บอสตัน ซึ่งมีเนื้อที่เบากว่าไอศกรีมแบบอเมริกัน ทั้งยังไม่ได้เป็นไอศกรีมที่มีท็อปปิ้ง จึงไม่สามารถจะถ่ายรูปให้สวยได้ ไม่มีชื่อเมนูแปะในตู้ไอศกรีม เพราะอยากให้ลูกค้าได้ถามถึงความเป็นมาของรสชาติ ส่วนเรื่องของวัตถุดิบนั้นเน้นแต่คำว่า “คุณภาพ” อย่างแท้จริง นั่นคือความต่างที่เรามองเห็นได้จากไอศกรีมคราฟต์รายนี้ เพราะไอศกรีมไม่ได้เป็นเพียงแค่ของหวาน... Guss Damn Good   

ร้าน Guss Damn Good
ปัจจุบันมี 6 สาขา : Megabangna, ศาลาแดง, 8 Thonglor, The Commons (สาขานี้มีมิลค์เชคขายด้วย), อาคารมหาทุน เพลินจิต และเซ็นทรัลเวิลด์
ติดต่อ : LINE : @GussDamnGood, FB : Guss Damn Good, IG : Guss Damn Good
 
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด