วันที่ 1 เมษายน 2568 นฤมิตไพรด์ จับมือกรุงเทพมหานคร พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมเนรมิตถนนพระราม 1 เป็นถนนสีรุ้งแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียม จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2025” ภายใต้ธีม Born This Way โดยภาพธงอัตลักษณ์ที่ยาวที่สุดกว่า 200 เมตร จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย และในโลก พร้อมธงสีรุ้งที่ยิ่งใหญ่อีกเช่นเคยโบกสะบัดใจกลางกรุงเทพมหานครในปีนี้ ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศจากทุกภาคส่วน และเป็นคำเชิญที่ส่งตรงไปยัง LGBTQIAN+ จากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนประเทศไทย ในฐานะหมุดหมายของ “ชาวสีรุ้ง” พร้อมตั้งเป้าความสำเร็จในปีนี้ ให้ “กรุงเทพฯ” เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางเพศระดับโลก และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เยาวชน LGBTQIAN+ ตัวแทนประเทศไทย ไปนำเสนอความพร้อมและคุณสมบัติในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride ปี 2030 สำเร็จ
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) และผู้จัดงาน “วันสมรสเท่าเทียม” (Marriage Equality Day) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดงาน
“Bangkok Pride Festival 2025” (บางกอก ไพรด์ เฟสติวัล 2025) ยังคงเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความหลากหลาย ความรักที่ไม่มีข้อจำกัด การรวมไว้ซึ่งความเท่าเทียมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับในสังคม โดยปีนี้รูปแบบของการจัดงานจะถูกถ่ายทอดเรื่องราวภายใต้ธีม
Born This Way : การต่อสู้ที่เดินต่อไปจากสมรสเท่าเทียม สู่การรับรองอัตลักษณ์
“ปีนี้คาดหวังว่าจะมีคนแห่แหนเข้ามาร่วมขบวนพาเหรดกับเราทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 300,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มีคนเข้าร่วมขบวนพาเหรด 100,000 คน และปี 2024 เพิ่มเป็นกว่า 250,000 คน พร้อมคาดหวังให้ Bangkok Pride Festival 2025 เป็นเทศกาลแห่งชาติ เป็น Pride Destination เป็นขบวนไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียที่คนอยากมาร่วมขบวนไพรด์พาเหรดมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทย ไม่ใช่แค่ชาว LGBTQIAN+ แต่เป็นผู้คนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เทศกาลนี้ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองของ LGBTQIAN+ แต่เป็นการประกาศว่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยพร้อมเป็นจุดหมายปลายทางแห่ง Pride ระดับโลก และเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030 อย่างสมศักดิ์ศรี”
นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ต่อไป
“Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) จะเป็นองค์กรที่ทำเรื่องเทคฯหรือ “
เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม” เพื่อชุมชนบางกอกไพรด์ และเป็น One Stop Service สำหรับชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลกด้วย ซึ่งหลังจบงาน
Bangkok Pride Festival 2025 พร้อมเริ่มดำเนินการเฟสแรกทันที เพื่อเร่งผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางเพศระดับโลก เป็นศูนย์กลางของ Inclusive Tourism และ Wellness Destination ที่ตอบโจทย์ชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลก
“การจัดงาน Bangkok Pride Festival 2025 มีแกนหลัก คือ Born This Way : การต่อสู้ที่เดินต่อไปจากสมรสเท่าเทียม สู่การรับรองอัตลักษณ์ และเราจะเปลี่ยนรูปแบบของการเรียกร้องทางสังคมใหม่ โดยใช้ความอ่อนน้อมต่อบุคคล แต่แข็งกร้าวต่อจุดยืน จากการถูกเหยียด ถูกด้อยค่า และความรุนแรง ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมาย ความหวัง ความพยายาม สนับสนุนและผลักดันให้ความเท่าเทียมเกิดการยอมรับในสังคมไทย พร้อมตั้งเป้าเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนทุกเพศ”
เมื่อพูดถึงกลิ่นอายของ
“Bangkok Pride Festival 2025” โมเมนต์ที่ทุกคนต่างรอคอยคือ
“ขบวนพาเหรด” เสน่ห์และอัตลักษณ์เสมือนการเปิดม่านสู่โลกที่เท่าเทียม และการเฉลิมฉลองความหลากหลายของชุมชน LGBTQIAN+ ในปีนี้เส้นทางขบวนพาเหรดจะอยู่บนถนนพระราม 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ยาวมาจนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2568 ตั้งแต่เวลา 14.00 - 22.00 น. เตรียมตัวเซอร์ไพรส์กับ
ขบวนพาเหรด 5 ขบวน 5 สี 5 คอนเซปต์ ประกอบด้วย
1.
สีแดง Born to be Loved ฉลองความรักและสิทธิสมรสเท่าเทียม
2.
สีม่วง Born to be Me ที่ส่งเสริมการรักตัวเองและความภาคภูมิใจในตัวตน
3.
สีเขียว Born to be Part of One สะท้อนความเชื่อมโยงของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สังคม และโลก
4.
สีเหลือง Born to Create & Inspire ที่ให้พื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน LGBTQIAN+
5.
สีฟ้า Born to Heal Generations ที่เน้นการเยียวยาและการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม
รวมถึงธงอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายและการยอมรับที่มีความยาวกว่า 200 เมตร เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก, การแสดง Drag Show และการแสดงอื่นๆ อีกเพียบ บนถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม ที่ปีนี้จัดใหญ่แบบทำถึง ทำจึ้ง ไม่มีกั๊ก!
อย่างไรก็ตาม
Bangkok Pride Festival 2025 ปีนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติตลอดระยะเวลา 3 วันเต็ม เพื่อสร้างสีสันความสนุก ความยิ่งใหญ่อลังการให้กับเดือนไพรด์ (Pride Month) โดยมี
“Bangkok Pride Awards” ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 เพื่อเชิดชูบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียม พร้อมจัด
“Bangkok Pride Forum” เปิดพื้นที่เสวนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับ สุขภาวะ LGBTQIAN+, เศรษฐกิจสีรุ้ง, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน และการศึกษา ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2568
นอกจากนี้ ยังมี
“Bangkok Pride Party” ที่จะสร้างสรรค์ค่ำคืนแห่งสีสันและความอลังการ ทำให้กรุงเทพมหานครสั่นสะเทือนด้วยแสง สี เสียง และพลังแห่งความภาคภูมิใจที่ไร้ขีดจำกัด และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คืองาน
“DRAG BANGKOK Festival 2025” ที่จะยกระดับศิลปะแดร็กไทยสู่เวทีโลก ภายใต้ธีม
“Thaituristic Drag Scene” ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2568 ด้วย ซึ่งนำเสนออัตลักษณ์ไทย ผ่านการแสดงที่ทรงพลังและสร้างสรรค์ และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับรองศิลปิน “แดร็ก” ให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
โดย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
“ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการจัดงานเทศกาล Bangkok Pride และเป็นปีที่สำคัญที่สุดปีหนึ่งของเรา เพราะไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง แต่คือปีแห่งความพร้อม ปีแห่งการรวมพลังของผู้คน สื่อ ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนนโยบาย ที่จะกลายเป็น “ธงนำ” ของกรุงเทพมหานครในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 ทุกกิจกรรม ทุกเวทีเสวนา ทุกเสียงจากขบวนพาเหรด และทุกสีสันจากศิลปวัฒนธรรมในปีนี้ จะสะท้อนให้โลกเห็นว่า กรุงเทพฯ คือเมืองที่พร้อมต้อนรับความหลากหลายจากทั่วโลก เราพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมด้วยหัวใจของคนกรุงเทพฯ และพร้อมด้วยนโยบายที่มุ่งสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ ความเชื่อ และตัวตน คือเมืองที่มีความหวัง และสามารถเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับทุกคน Bangkok Pride Festival 2025 จึงไม่ใช่แค่งานเฉลิมฉลอง แต่คือการแสดงพลังของเราต่อสายตาผู้คนทั่วโลกว่า กรุงเทพฯพร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 และเมืองนี้พร้อมเป็นเมืองของทุกคน”
ปีนี้ คือ อีกหนึ่งก้าวประวัติศาสตร์ที่สะเทือนทั้งเอเชีย เพราะประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศใช้กฎหมาย
สมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงเป็นชัยชนะของความรักและสิทธิมนุษยชน แต่ยังกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจัดงาน
Bangkok Pride Festival 2025 จึงไม่เพียงเป็นแค่การเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียม แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือน และสัมผัสกับวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายของสังคมไทย
Bangkok Pride Festival 2025 ไม่เพียงแค่เป็นปรากฏการณ์การรวมตัวของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการยืนยันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้เฉลิมฉลองความหลากหลายของความรักและความเป็นมนุษย์
“นฤมิตไพรด์” ยังเปิดพื้นที่ให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจนี้ และช่วยกันสร้างโลกที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยเปิดรับสมัครขบวนทั้งในงานและออนไลน์ผ่าน
www.bangkokpride.org
#BangkokPride #BangkokPride2025 #BangkokPrideFestival2025 #นฤมิตไพรด์
#สมรสเท่าเทียม #MarriageEqualityDay
#เพศกำหนดเอง #sexworkiswork #DRAGBANGKOKFestival2025 #DRAGBANGKOK
#LGBTQIAN+ #Thailand #Asia #Drag