อยู่ดี๋กิ๋นหวาน บ้านไทยลื้อ ลวงเหนือ ดอยสะเก็ด

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
4,771    6    -4    8 ก.ย. 2562 09:00 น.
แบ่งปัน
ใครโทรมาตอนนี้ขออนุญาตไม่รับสาย เพราะกำลังติดภารกิจค้นหาคำตอบจากวิถีชีวิตอันเรียบง่าย คำตอบที่ว่าคือความสวยงาม ความน่ารัก และเรื่องราวที่ไม่เหมือนกันของแต่ละที่ ซึ่งคราวนี้เราเลือกแบกเป้มาเยือน บ้านไทยลื้อ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อาหารแปลกตาแสนอร่อย วิถีชีวิตแบบชาวไทยลื้อ และทุ่งนาฟ้ากว้างคือสิ่งที่ใจเรียกร้อง
        เราเริ่มต้นกันที่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ ในหมู่บ้านไตลื้อ เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่มีประวัติยาวนาน 600 กว่าปี หมู่บ้านไตลื้อลวงเหนือเริ่มต้นขึ้นเมื่อชาวไตลื้ออพยพลี้ภัยสงครามจากแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เมื่อปี พ.ศ. 1932 และถูกเรียกขานว่าชาวเมืองลวงเหนือ ไม่เพียงแต่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ทั้งความเชื่อ ภาษา อาหาร การแต่งกาย บ้านเรือน และวิถีชีวิตหลาย ๆ อย่างก็ดูจะแปลกตาสำหรับผู้มาเยือนอย่างเราไปเสียหมด

        เมื่อมาถึงแม่ ๆ ยาย ๆ ก็รอต้อนรับด้วยรอยยิ้ม และบายศรีรับขวัญอย่างน่ารัก ความน่ารักอย่างหนึ่งคือคำทักทายที่ชวนให้รู้สึกถึงความอบอุ่นเป็นกันเองอย่าง “อยู่ดี๋กิ๋นหวาน” ที่หมายถึง สวัสดี ในแบบที่เราคุ้นเคย ที่นี่เราจะได้เห็นถึงบรรยากาศวิถีชาวไตลื้อได้หลายอย่างทั้ง อาหารการกิน หลองข้าว ห้องครัว การทอผ้า และเอกลักษณ์การสร้างบ้านเรือน ที่จะสร้างเป็นบ้านยกสูง มีหลังคาจั่ว 2 ด้าน ด้านบนเป็นห้องครัว และห้องนอน ด้านล่างเป็นที่ทอผ้า ส่วนห้องน้ำจะสร้างไกลออกไปแถวดงต้นไม้ เพราะเชื่อว่าห้องน้ำเป็นสิ่งไม่ดี แต่น่าเสียดายที่บ้านแบบไตลื้อเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลาเกือบหมดแล้ว ซึ่งที่นี่ก็เพียงอนุรักษ์ไว้ให้ได้เรียนรู้เท่านั้น

 
 

       กี่ทอผ้าเรียงรายอยู่ใต้ถุนบ้าน ดึงดูดสายตาให้เราเข้าไปเมียงมองดูใกล้ ๆ แล้วก็เห็นว่าแม่ ๆ กำลังทอผ้ากันอย่างขยันขันแข็ง อีกด้านคุณยายก็กำลังปั่นฝ้าย เพื่อนำมาทำเส้นด้ายไว้ทอผ้าไม่หยุดมือ ซึ่งผ้าที่ทอพวกนี้นอกจากจะนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าของชาวลื้อแล้ว ยังนำมาทำเป็นรองเท้า ถุงใส่กุญแจ หมวก และกระเป๋าย่ามแสนน่ารักอีกด้วย 
 


       หลังจากนั้นเราก็ย้ายไป ทุ่งนาฟ้ากว้าง โดยนั่งรถซาเล้งลัดเลาะไปตามท้องทุ่งนากว้าง ๆ เพื่อไปเก็บไข่เป็ดกันสด ๆ จากในเล้ากับมือ แล้วนำมาต้มเป็นยางมะตูม บอกเลยว่าเด็ดมาก ใกล้ ๆ กันก็เป็น บ้านทำข้าวแคบ แค่ก้าวเข้าไปในบ้านก็จะเห็นเตาเผาทำข้าวแคบอันเบ้อเริ่มตั้งอยู่ มีคุณป้ากำลังทำข้าวแคบมือเป็นระวิง ในขณะที่ลานหน้าบ้านก็เรียงรายไปด้วยแผ่นข้าวแคบหลายร้อยแผ่น รอเวลาตากแดดให้แห้ง แล้วจึงนำไปย่างเป็นข้าวเกรียบ ต่อจากนั้นเราก็ไปทำงานฝีมือกันสักนิดที่ บ้านตุ๊กตาไม้นายโถบ้านลวงเหนือ งานไม้แกะสลักที่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาไม้ 12 ราศีแสนน่ารัก โดยเริ่มต้นจากการแกะสลักไม้เป็นรูปพญาลวง เทพบันดาลฝน สัตว์ครึ่งนาคครึ่งมังกรในจินตนาการของชาวไทยลื้อ ที่มีเขาคล้ายกวาง และเท้าสองคู่เหมือนพญาเหยี่ยว
 
      

       จบท้ายด้วยการรับประทานอาหารกลางวันแสนเลิศรส คลอเคล้าโฟล์คซองเมืองลื้อเพลิน ๆ บนใบหน้าของชาวไตลื้อมักเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และวิถีชีวิตง่าย ๆ แบบกินง่ายอยู่ง่าย ข้าวปลาอาหารก็หาจากรอบรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเป็น “ไข่ป่าม” ไข่สีเหลืองนวล เนื้อนุ่ม ถูกปิ้งบนเตาถ่านในกระทงใบตองเล็ก ๆ จนสุก “โสะบะก้วยเต้ดลื้อ” ตำมะละกอแบบชาวลื้อที่ใส่พริกแห้งคั่ว น้ำมะขาม และปลาร้า “ข้าวจี่น้ำพริกตาแดง” ข้าวเหนียวนึ่งเสียบไม้ ทาด้วยน้ำพริกตาแดงเผ็ด ๆ แล้วย่างบนเตาถ่านอีกทีจนข้าวเริ่มเกรียมและมีกลิ่นหอม “ผัดไทยไตลื้อ” ที่เน้นการใช้ซอสมะขามและถั่วฝักยาวที่มีในหมู่บ้าน รวมถึง “ข้าวแคบ” หรือข้าวเกรียบรสเค็มแผ่นเล็ก ๆ และ “น้ำหนัง” ที่คล้ายข้าวแคบแต่ทำจากหนังวัวหนังควายเคี่ยว รสจะเค็มและเหนียวกว่า

       บอกเลยว่านอกจากจะได้สัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิตไตลื้อแบบใกล้ชิดแล้ว ยังจะได้รับรอยยิ้มแสนอบอุ่นใจกลับมาเป็นของขวัญอีกด้วย ยิ่งได้มาเที่ยวในวันธรรมดาก็ยิ่งสุขใจอีกเป็นเท่าตัว เพราะไม่ต้องเร่ง ๆ รีบ ๆ แย่งกับใครเขา…

เรื่อง : KronSiri Journey
ภาพ : ธราดล

 
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด