อาหารว่างไทยมีเรื่องราว

แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
แเสดงความคิดเห็น
ถูกใจ
15,084    10    -4    9 ม.ค. 2563 11:30 น.
แบ่งปัน
       กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นในช่วงบ่ายของวันทำให้ร่างกายรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น และถ้าวันไหนมีของว่างขบเคี้ยวด้วยแล้วยิ่งช่วยให้ร่างกายมีแรงทำงานขึ้นไปอีก ดังนั้นในช่วงบ่ายแก่ ๆ จึงเป็นเหมือนเวลาพักผ่อนของพนักงานออฟฟิศ และใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น เพื่อจิบกาแฟ ดื่มชา พร้อมกับรับประทานของว่าง ในระหว่างนี้อาจพูดคุยกันเรื่องสนุก ๆ ระหว่างกลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดอาการเครียดหลังจากทำงานมาเกือบทั้งวันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงเวลาพักเบรคไปแล้ว ก็คงต้องพูดถึงเรื่อง “อาหารว่าง” กันบ้าง อาหารว่าง หมายถึง อาหารระหว่างมื้อ เป็นอาหารประเภทเบา ๆ มีปริมาณอาหารน้อยกว่าอาหารประจำมื้อ อาจจะเป็นอาหารน้ำหรืออาหารแห้ง มีทั้งคาวและหวาน หรือเป็นอาหารชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำหยิบรับประทานได้ง่าย มักนิยมรับประทานกันในระหว่างมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน หรือระหว่างมื้อกลางวันกับมื้อเย็นแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลา คือ 10.00-11.00 น., 14.00-15.00 น. และ 22.00-23.00 น. ในยุคนี้อาหารว่างโดยส่วนใหญ่มักเป็นขนมหรืออาหารที่หาซื้อได้ง่าย อาทิ ขนมปังกรอบ ผลไม้ เค้กชิ้นเล็ก ฯลฯ ซึ่งหลายคนคงลืมไปแล้วว่าจริง ๆ แล้วอาหารว่างของไทยเราก็มีเช่นกัน

สำหรับอาหารว่างของไทยนั้น แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ คือ อาหารว่างไทยสมัยโบราณ อาหารว่างของไทยมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แม่บ้านสมัยก่อนใช้เวลาว่างในการทำอาหารว่างเก็บไว้ โดยใช้วัสดุที่เหลือจากอาหารมื้อหลักให้เป็นประโยชน์ และใช้วัสดุที่มีมากในฤดูกาลมาประกอบเป็นอาหารว่าง เช่น ข้าวตังหน้าตั้ง เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม ข้าวตู ข้าวตอกตั้ง ข้าวเม่าหมี่ ขนมจีบ หรือปั้นสิบทอด เป็นต้น อีกหมวดหนึ่งคือ อาหารว่างไทยสมัยปัจจุบัน ในปัจจุบันอาหารว่างมีความจำเป็นโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกลระหว่างบ้านกับที่ทำงาน รวมทั้งเด็ก ๆ ที่ต้องไปโรงเรียน จึงควรรับประทานอาหารระหว่างมื้อ อาหารว่างควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ทำง่าย รับประทานแล้วไม่อิ่มจนเกินไป และสะดวกที่จะรับประทาน อาทิ แซนด์วิช ขนมปังไส้ต่าง ๆ หรือผลไม้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังสามารถแบ่งตามลักษณะได้ 6 ประเภท ได้แก่ ของนึ่ง (สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ช่อม่วง ปั้นสิบ) ของต้ม (เกี๊ยวกุ้ง กระเพาะปลา) ของทอด (ขนมปังหน้าหมู เปาะเปี๊ยะทอด ขนมเบื้อง หมูโสร่ง) ของปิ้ง (หมูสะเต๊ะ ข้าวเหนียวปิ้ง ไส้กรอก) ของคลุก (ปลาแนม ข้าวเม่าหมี่ หมี่กรอบ หมี่กะทิ) และของเบ็ดเตล็ด (ข้าวตังหน้าตั้ง เมี่ยงลาว เมี่ยงคำ)
 

       วัฒนธรรมการรับประทานอาหารว่างเริ่มมีตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นมาจากดินแดนตะวันตกเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วโดยชนชั้นสูง เช่น กษัตริย์ และขุนนาง จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลายมาสู่คนสามัญ โดยมีมูลเหตุก็เพื่อใช้ฆ่าเวลาขณะพักจากการทำงาน หรือชมมหรสพ การหาของมารับประทานจึงเป็นตัวช่วยได้ดี ธรรมเนียมการเสิร์ฟอาหารว่างจะนิยมกัน 2 ช่วงเวลา คือช่วงบ่ายต่อจากมื้อเที่ยงประมาณ 2 ชั่วโมง และตอนกลางคืนราว 3 ทุ่มเป็นต้นไป โดยที่อาหารว่างในยามบ่ายนั้นจะได้รับความนิยมมากกว่าตอนกลางคืน โดยมากมักเป็นอาหารเบา ๆ ไม่หนักท้องเกินไป เป็นชิ้นพอดีคำ รับประทานได้เรื่อย ๆ ซึ่งรวมไปถึงฟิงเกอร์ฟู้ดที่สามารถใช้มือหยิบจับรับประทานได้ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมายนัก ที่สำคัญยังนิยมเสิร์ฟคู่กับเครื่องดื่มที่สามารถเรียกความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าระหว่างวันให้พร้อมลุยงานอีกครั้ง เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มประจำถิ่นที่แต่ละชนชาติได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อเพิ่มให้การรับประทานอาหารว่างเต็มไปด้วยความสุขมากยิ่งขึ้น

อาหารว่างมีอยู่ทั่วโลก แต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมต่างกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ดังนั้นอาหารว่างของแต่ละพื้นที่นั้นก็ต่างออกไปเช่นกัน เริ่มจาก ติ่มซำ จัดเป็นอาหารว่างของจีนที่เราคุ้นตากันอยู่แล้ว ซึ่งที่มาของเมนูนี้เริ่มมาจากวัฒนธรรมการดื่มชาหรือหยำฉาของชาวกวางตุ้ง พร้อมกับอาหารชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นค่อยกลายมาเป็นติ่มซำในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งของต้ม ของนึ่ง ของทอด จัดมาในเข่งไม้ไผ่ขนาดเล็ก และต้องรับประทานขณะที่ยังร้อน ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีของว่างที่เรียกว่า โดรายากิ (Dorayaki) เป็นแป้งทอด 2 แผ่นประกบกันสอดไส้ถั่วแดง รสหวานนุ่มนวล ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ โอนิงิริ (Onigiri) เป็นข้าวปั้นรูปสามเหลี่ยม สอดไส้ได้หลายชนิด แล้วห่อด้วยสาหร่ายชิ้นเล็ก ๆ บางครั้งอาจนำไปทอดหรือย่างจนเหลือง นอกจากนั้นยังมี เซ็มเบ (Senbei) แป้งข้าวเหนียวย่างซีอิ๊วห่อด้วยสาหร่าย และอาจสอดไส้กุ้ง งาดำ ถั่วแดง มาถึงอาหารว่างที่รับประทานพร้อมกับชาแบบชาวอังกฤษกันบ้าง สำหรับการดื่มชาแบบชาวอังกฤษนี้เรียกว่า อิงลิช ไฮที (English High Tea) เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยต้นศตวรรษที่ 19 ถือเป็นธรรมเนียมการรับประทานอาหารว่างในหมู่ชาวตะวันตก การเสิร์ฟอิงลิช ไฮที นิยมจัดเสิร์ฟในลักษณะบุฟเฟ่ต์ หรือเป็นชุดเล็ก ๆ โดยขนมที่เป็นไฮไลท์และขาดไม่ได้เลยก็คือ สโคน (Scone) บิสกิต (Biscuit) ครัมเป็ต (Crumpet) แพนเค้ก (Pancake) รวมไปถึง ทาร์ต (Tart)
 

       อีกชนชาติหนึ่งที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติอาหารมายาวนาน ฝรั่งเศส นับเป็นประเทศที่มากไปด้วยทรัพยากรมากมาย ส่วนอาหารว่างของชาวฝรั่งเศสนั้นมีหลายชนิด เริ่มจาก คีช (Quiche) เป็นอาหารจานอบชนิดหนึ่งโดยมีส่วนประกอบหลักคือ ไข่ นม หรือ ครีม ต่อด้วย กอร์ดงเบลอ (Cordon Bleu) เป็นอาหารฝรั่งเศสที่นำเนื้อสัตว์มาแล่ให้เป็นชิ้นบาง ๆ ใส่แฮมและชีสเป็นไส้ แล้วนำเนื้อไก่มาหุ้มให้มิด นำไปชุบไข่และเกล็ดขนมปังทอดให้สุก รวมไปถึงขนมหวานที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง มาการอง และเอแคลร์ เป็นต้น ส่วนชาวสเปน ดินแดนกระทิงดุ มีอาหารว่างเป็นอันดับหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีในนาม ทาปาส ซึ่งเป็นอาหารเบา ๆ รับประทานง่าย โดยมีทั้งของแห้ง ของทอด และของย่าง ชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ  สะดวกในการหยิบรับประทาน โดยนิยมเสิร์ฟกับแซงเกรีย (Sangria) เครื่องดื่มรสชาติดีสีแดงสด ทำจากไวน์แดงผสมกับน้ำผลไม้และโซดา ลอยหน้าด้วยผลไม้หั่นชิ้นเล็ก อาจเพิ่มดีกรีแอลกอฮอล์ด้วยการเติมเหล้าหวาน บรั่นดี หรือคอนญัก ปิดท้ายด้วยอาหารว่างของชาวอิตาเลียนกันบ้าง ชาวอิตาเลียนรู้จักสรรหาของว่างมากำนัลให้นักกินได้ลิ้มลองมากมาย แต่จานไหนก็ไม่เทียบเท่า แอนติพาสตี (Antipasti) ที่นิยมเสิร์ฟเป็นจานใหญ่ มีหลายอย่างให้เลือกรับประทานอย่างจุใจ เช่น ซาลามี่ ผักดอง เปปเปอโรนี พริกหวานย่างในน้ำมันมะกอก ผลมะเดื่อสุก เมลอนกับพาร์มาแฮม มะเขือม่วงย่าง ชีส ผลไม้แห้ง หน่อไม้ฝรั่งลวก และกริสซินี ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ บิสกอตติ (Biscotti) เป็นคุกกี้แท่งยาว เนื้อแน่นอบจนกรอบ รสหวานมันเพราะมีถั่วเฮเซลนัท โดยจะเสิร์ฟกับเครื่องดื่มสุดฮอตอย่าง เอสเปรสโซ รสเข้ม

ส่วนในครั้งนี้เราเลือกที่จะทำอาหารว่างแบบไทยที่หารับประทานได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน เนื่องจากขั้นตอนและวิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ค้างคาวเผือก ไส้กรอก ปลาแนม หรือแม้แต่ชักเปี๊ยะ แต่ด้วยความที่เป็นอาหารว่างหายากในปัจจุบัน เราจึงต้องการนำเสนอเพื่อให้คุณแม่บ้านรุ่นใหม่ ๆ ได้รู้จักกัน ก่อนที่อาหารเหล่านี้จะหายไปจากใจ รับรองว่ารสชาติแบบไทย ๆ นี้ ต้องถูกปากคุณอย่างแน่นอน
 

ค้างคาวเผือก
อาหารว่างไทยโบราณอีกหนึ่งชนิดที่หลาย ๆ คนไม่น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ที่มาของชื่อมาจากลักษณะของขนมที่คล้ายกับค้างคาว โดยมีส่วนผสมหลักคือเผือกนวดกับแป้งใช้เป็นตัวห่อ ส่วนไส้นั้นทำจากกุ้งกับมะพร้าวทึนทึกผัดให้เข้ากัน แล้วปรุงรส เมื่อห่อเสร็จจึงนำไปทอดจนกรอบ รับประทานพร้อมน้ำอาจาด
 

ส่วนผสมตัวเผือก
เผือกนึ่งสุกบดละเอียด 500 กรัม
แป้งสาลีอเนกประสงค์ 6 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
1. ผสมเผือกนึ่งกับแป้งสาลี นวดจนเข้ากันดี
2. แบ่งเผือกที่ได้เป็นก้อน หนักก้อนละ 15 กรัม เตรียมไว้
3. นำตัวเผือกแผ่ออกใส่ไส้กุ้งลงตรงกลางจับเผือก 3 มุม หุ้มประกบกันให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิด
4. นำตัวค้างคาวเผือกลงชุบน้ำแป้งบาง ๆ ใส่ลงทอดในน้ำมันพืชไฟปานกลางทอดจนสุกเหลือง ตักขึ้น รับประทานคู่กับน้ำอาจาด

ส่วนผสมตัวไส้กุ้ง
เนื้อกุ้งสดสับละเอียด 100 กรัม
มะพร้าวขูดขาว 200 กรัม
รากผักชีหั่นหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมไทยกลีบเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ
พริกไทยเม็ด 1/2 ช้อนชา
น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 100 กรัม
เกลือป่นหยาบ 1 1/2 ช้อนชา
ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนโต๊ะ
สีผสมอาหารสีส้ม  
น้ำมันพืชสำหรับทอด  

วิธีทำ
1. โขลกรากผักชี กระเทียม พริกไทยเม็ด เข้าด้วยกันให้ละเอียด
2. ผสมมะพร้าวขูดขาวกับสีผสมอาหารเข้าด้วยกัน ใส่เนื้อกุ้งสับขยำให้เข้ากันดี
3. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่ส่วนผสมในข้อที่ 1 ลงผัดพอมีกลิ่นหอม ใส่ส่วนผสมในข้อที่ 2 ลงผัดพอสุก
4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย เกลือป่น ผัดต่อจนเข้ากันดี โรยใบมะกรูด ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท

ส่วนผสมน้ำแป้งสำหรับชุบ
แป้งสาลีอเนกประสงค์ 150 กรัม
แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม
ไข่ไก่ (เฉพาะไข่แดง) 1 ฟอง
เกลือป่นหยาบ 1 ช้อนชา
น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปูนใส 1/2 ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง

วิธีทำ
1. ผสมแป้งสาลีกับแป้งข้าวเจ้าเข้าด้วยกัน พักไว้
2. ผสมไข่แดง เกลือป่น น้ำมันพืช น้ำปูนใส และน้ำเปล่าคนจนเข้ากันดี แล้วเทลงในส่วนผสมในข้อที่ 1 คนจนเข้ากันดี กรองด้วยกระชอน จึงนำไปใช้สำหรับชุบตัวค้างคาวเผือก

ส่วนผสมน้ำอาจาด
น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ
แตงกวาหั่นชิ้น  
พริกชี้ฟ้าสีแดงหั่นชิ้น  
หอมแดงซอย  
ใบผักชี  

วิธีทำ
1. ใส่น้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย เกลือป่น ลงในหม้อ ตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟปานกลางจนเดือด และมีลักษณะข้นเล็กน้อย ยกลงพักไว้ให้เย็นสนิท
2. ใส่แตงกวา พริกชี้ฟ้า หอมแดง ลงในภาชนะ ตักส่วนผสมในข้อที่ 1 ลงไป ตกแต่งด้วยใบผักชี จัดเสิร์ฟพร้อมค้างคาวเผือก
 

ไส้กรอก ปลาแนม
เป็นอาหารว่างของคนภาคกลาง มีสามรส เปรี้ยวปนหวาน และเผ็ดเล็ก ๆ ของปลาแนม นิยมรับประทานคู่กับไส้กรอกหมู หรือไส้กรอกข้าวเหนียว รับประทานพร้อมกับใบทองหลาง พริกสด กระเทียมดอง และหอมแดง
 

ส่วนผสมไส้กรอก
เนื้อหมูบดแช่เย็นจัด 500 กรัม
มันหมูแข็ง (หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็กแช่เย็นจัด) 100 กรัม
น้ำพริกแกงคั่ว 1/4 ถ้วยตวง
หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
ถั่วลิสงคั่วบดละเอียด 2 ถ้วยตวง
ไข่ไก่ 2 ฟอง
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 7 ช้อนโต๊ะ
ผักชีซอย 1/2 ถ้วยตวง
ไส้หมูขม (สำหรับทำไส้กรอก) 1 พวง
เกลือป่นหยาบสำหรับล้างไส้  
น้ำส้มสายชูสำหรับล้างไส้  
กากมะพร้าวสำหรับโรย  

วิธีทำ
1. ล้างไส้หมู ขูดสิ่งสกปรกออกให้หมดกลับด้านในออก ล้างน้ำเปล่า แล้วขยำกับเกลือป่น ทำซ้ำกันประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วนำไส้หมูแช่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยประมาณ 10 นาที ล้างออกให้สะอาด กลับด้านไส้พักไว้
2. ผสมเนื้อหมูบด มันหมูแข็ง น้ำพริกแกงคั่ว นวดให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่ ค่อย ๆ เติมหัวกะทิจนหมด นวดให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ นวดพอเข้ากันดี ใส่ถั่วลิสงคั่ว ผักชี นวดต่อจนส่วนผสมเข้ากันดี
4. นำส่วนผสมที่ได้ยัดใส่ในไส้หมู มัดให้แน่น ใช้เข็มแทงไส้กรอก (เพื่อไม่ให้แตก) จากนั้นนำขึ้นปิ้งบนเตาไฟ โรยกากมะพร้าว ปิ้งต่อจนสุกเหลือง

ส่วนผสมปลาแนม
ข้าวสารหอมมะลิ 500 กรัม
หนังหมูต้มสุก (หั่นเป็นเส้นบาง ๆ) 1 ถ้วยตวง
ปลาช่อนย่าง (แกะเอาแต่เนื้อโขลกให้ฟู) 1/2 ถ้วยตวง
หอมแดงซอย 1/3 ถ้วยตวง
กระเทียมดองซอย 1/3 ถ้วยตวง
หัวกะทิ 1/4 ถ้วยตวง
ถั่วลิสงคั่วซอย 1/2 ถ้วยตวง
น้ำส้มซ่า 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 6 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบ 2 1/4 ช้อนชา
ผิวส้มซ่าซอย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่าสำหรับแช่ข้าว  
ผักกาดหอม ใบทองหลาง,ใบชะพลู,หอมแดงซอย,
กระเทียมดองซอย,พริกขี้หนูสวนซอย

วิธีทำ
1. ซาวข้าวสารหอมมะลิให้สะอาด จากนั้นนำข้าวสารแช่น้ำไว้ประมาณ 30 นาที แล้วเทใส่กระชอนพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ใส่ข้าวสารลงในกระทะตั้งไฟ คั่วด้วยไฟอ่อนจนสุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้ให้เย็นสนิท
3. นำข้าวสารบดให้ละเอียดร่อนในกระชอนตาถี่ จนได้ข้าวคั่วป่นละเอียด 2 1/4 ถ้วยตวง
4. ผสมน้ำส้มซ่า ตามด้วยหัวกะทิ น้ำมะนาว น้ำตาลทราย และเกลือป่น คนให้ละลาย พักไว้
5. ใส่ข้าวคั่วป่น เนื้อปลาช่อน ถั่วลิสง ลงในอ่างผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่หนังหมู หอมแดง กระเทียมดอง ผิวส้มซ่า และส่วนผสมในข้อที่ 4 คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
6. วิธีรับประทาน ตักปลาแนมใส่ลงในใบผักกาดหอม ใบทองหลาง หรือใบชะพลู โรยหอมแดง กระเทียมดอง พริกขี้หนู รับประทานเป็นคำ ๆ คู่กับไส้กรอก
 

ชักเปี๊ยะ
มีลักษณะคล้ายเปาะเปี๊ยะ เพียงแต่ห่อต่างกัน คือ ห่อเป็นแท่งคล้ายห่อทอฟฟี่แต่ยาวกว่า โดยเลียนแบบมาจากของเล่นเสี่ยงทายชนิดหนึ่ง เล่นวิธีการเล่น คือ ดึงหรือกระตุกห่อของที่รูปร่างเหมือนทอฟฟี่ ถ้าดึงหรือกระตุกแล้วมีเสียงดังเปี๊ยะจะได้รางวัลไป
 

ส่วนผสม
เนื้ออกไก่ 250 กรัม
กุนเชียง (หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก) 50 กรัม
แคร์รอตหั่นเส้น 70 กรัม
กะหล่ำปลีซอย 100 กรัม
เห็ดหอมแห้ง (แช่น้ำพอนิ่ม หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก) 50 กรัม
กระเทียมสับ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 2 ข้อนชา
น้ำตาลทราย 1 1/2 ช้อนชา
เกลือป่นหยาบ 1/2 ช้อนชา
พริกไทยป่น 1/ 2 ช้อนชา
เนยสดชนิดเค็ม 2 ช้อนโต๊ะ
ใบกุยช่ายลวกสำหรับมัด  
น้ำเปล่า  
แผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะตัดขนาด 5x5 นิ้ว สำหรับห่อ  
น้ำมันพืชสำหรับผัดและทอด  
น้ำอาจาด จากสูตรค้างคาวเผือก  

วิธีทำ
1. นำเนื้ออกไก่ซับน้ำให้แห้ง โรยเกลือป่น พริกไทยป่น ใส่เนยสดคลุกเคล้ากันจนทั่ว หมักไว้ประมาณ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชเล็กน้อยพอร้อน นำไก่ลงกริลล์จนผิวสุกเหลืองทั่ว แล้วนำไก่ใส่หม้อเติมน้ำเปล่าพอท่วม ตั้งไฟต้มจนไก่สุก ตักขึ้นพักไว้ให้เย็น ฉีกเนื้อไก่เป็นเส้นฝอย
3. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะพอร้อน ใส่กระเทียมลงผัดพอเหลือง ใส่กุนเชียง เห็ดหอม ลงผัดพอมีกลิ่นหอม
4. ใส่กะหล่ำปลี แคร์รอต ผัดพอผักสลด ใส่ไก่ฉีก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซอสเห็ดหอม น้ำตาลทราย ผัดต่อจนเข้ากันดี ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท
5. วางแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะลงบนภาชนะเรียบ ตักไส้ในข้อที่ 4 ลงบนแผ่นแป้ง และม้วนให้แน่น มัดด้านหัวและท้ายด้วยใบกุยช่ายลวกจนแน่น
6. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน นำส่วนผสมในข้อที่ 5 ลงทอดจนสุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน จัดเสิร์ฟพร้อมน้ำอาจาด
 

ข้าวเม่าหมี่
ข้าวเม่าจัดเป็นขนมไทยที่นิยมรับประทานกันมานาน ได้มาจากรวงข้าวสีเขียวไล่มาจนถึงสีเขียวตกน้ำตาล ส่วนข้าวเม่าหมี่นั้นเป็นการนำข้าวเม่าไปทอดจนกรอบ รับประทานพร้อมกับ กุ้งแห้ง เต้าหู้ทอด ถั่วลิสง หรือใส่น้ำตาลทรายถ้าเป็นแบบหวานก็ได้เช่นกัน
 

ส่วนผสม
ข้าวเม่าสีเขียว 1 1/2 ถ้วยตวง
เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง 75 กรัม
กุ้งแห้งอย่างดี 3/4 ถ้วยตวง
กระเทียมกลีบใหญ่เจียว 1/2 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบ 1 ช้อนชา
น้ำมันพืชสำหรับทอด  

วิธีทำ
1. หั่นเต้าหู้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก วางเรียงใส่ตะแกรง นำตากแดดจนแห้ง
2. ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน ใส่เต้าหู้ตากแห้งลงทอดจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
3. ใส่ข้าวเม่าลงทอดต่อจนฟูเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
4. ใส่กุ้งแห้งลงทอดต่อจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้บนตะแกรง
5. ใส่ข้าวเม่าทอด เต้าหู้ทอด กุ้งแห้งทอด และกระเทียมเจียว ลงในกระทะตั้งไฟอ่อน
6. ใส่น้ำตาลทราย เกลือป่น คั่วเบา ๆ จนน้ำตาลทรายเคลือบส่วนผสมจนทั่ว ยกลง พักไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท
 

มะปรางคาบแก้ว
ของหวานอาหารว่างแบบไทย ๆ ที่นำเอามะปรางรสเปรี้ยวอมหวาน มาผสานให้เข้ากับรสหวานฉ่ำของข้าวเหนียวมูนได้เป็นอย่างดี ปิดท้ายด้วยการราดน้ำกะทิรสเค็ม เพื่อช่วยตัดรสเลี่ยน
 

ส่วนผสม
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 500 กรัม
หัวกะทิ 1 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
เกลือป่นหยาบ 2 ช้อนชา
ใบเตย 3 ใบ
มะปรางสุก 1 กิโลกรัม
สารส้มสำหรับขัดข้าวเหนียว  
น้ำเปล่าสำหรับแช่ข้าว  

วิธีทำ
1. นำข้าวเหนียวขัดกับสารส้มจนทั่ว แล้วแช่ข้าวเหนียวไว้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง จากนั้นเทออกใส่ตะแกรงพักไว้ ให้สะเด็ดน้ำ
2. เทข้าวเหนียวใส่ผ้าขาวบาง วางใส่ลังถึง นำขึ้นนึ่งบนน้ำเดือดประมาณ 30-45 นาทีหรือจนสุก
3. ระหว่างรอนึ่งข้าวเหนียว เตรียมน้ำมูนโดยใส่หัวกะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น และใบเตย ลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ คนจนส่วนผสมละลายและเดือด ยกลง
4. เทข้าวเหนียวนึ่งสุกร้อน ๆ ลงในอ่างผสม เทน้ำมูนในข้อที่ 3 ลงไป คนจนเข้ากันดี ปิดฝาให้สนิท พักไว้ประมาณ 20 นาที เปิดฝาใช้ไม้พายคนอีกครั้ง ตักใบเตยออก
5. ปอกเปลือกมะปราง จากนั้นคว้านเม็ดออก แล้วตักข้าวเหนียวมูนใส่ในลูกมะปราง ราดกะทิสำหรับราดหน้า จัดเสิร์ฟ

ส่วนผสมกะทิสำหรับราดหน้า
หัวกะทิ 1 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า  1 1/2 ช้อนชา
เกลือป่นหยาบ 1/4 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 1/2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ คนจนส่วนผสมเดือด มีลักษณะข้นเล็กน้อย ยกลง พักไว้ให้เย็นสนิท



เรื่อง : TONGTA
ภาพ : ชุลีภรณ์

 
บทความแนะนำอื่นๆ
สูตรอาหารน่าสนใจ
แสดงความคิดเห็น

* จำเป็นต้องกรอก

คะแนนสำหรับบทความนี้ *
รายละเอียด *
ยังไม่มีรีวิว
บทความใกล้เคียงดูบทความทั้งหมด